• 89/14 12th Floor, Amornpan Tower, Soi Nathong, ฺ, เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400
  • realnext@remax.co.th
  • 02-274-5999

บทความ/ข่าว

28-10-2019 /

ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบ ลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% เหลือ 0.01% และค่าจดจำนองจาก 1%เหลือ 0.01% สำหรับการซื้อขายบ้านที่มีราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท  เพื่อเป็นการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย และสนับสนุนให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยของตัวเอง  นอกจากนี้จะให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. จัดทำสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 50,000 ล้านบาท สำหรับกู้ซื้อบ้านได้ทั้งบ้านใหม่ และบ้านมือสอง


วันนี้ (22 ตุลาคม 2562) ที่ประชุมครม.อนุมัติ มาตรการลดภาระให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัย เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เหมาะสมกับศักยภาพ ของประชาชนแต่ละกลุ่ม โดยรัฐบาล ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนจากเดิม  2 % เหลือ 0.01% และ ลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1%  เหลือ 0.01% เฉพาะการซื้อขายที่อยู่อาศัยที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุด ในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย และการจดทะเบียนการโอน และการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยต้องดำเนินการในคราวเดียวกัน ทั้งนี้มีระยะเวลานับตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยมีผลบังคับใช้ประมาณวันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 24 ธันวาคาม 2563       นอกจากนี้เห็นชอบมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) สนับสนุนสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย โดยการให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ราคาพิเศษและเงื่อนไขผ่อนปรนสำหรับมาตรการสินเชื่อ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2562 ถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2563 โดยมีวงเงินสินเชื่อทั้งหมด 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.5% ในช่วง 3 ปีแรก

สำหรับมาตรการลดภาระฯ และมาตรการสินเชื่อฯ มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง กลุ่มคนเริ่มทำงานใหม่ที่กำลังก่อร่างสร้างตัว รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อเพื่อให้บุตรหลานหรือทายาท โดยต้องเป็นการซื้ออยู่อาศัยประเภท บ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ (เพื่อการอยู่อาศัย) และห้องชุด ทั้งนี้ต้องเป็นที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จพร้อมอยู่ที่ไม่เคยผ่านการครอบครองโดยบุคคลอื่นมาก่อน การกำหนดราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วยนั้น เนื่องจากเป็นระดับราคาที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ต้องการของกลุ่มเป้าหมาย


ที่มา : yusabuy.com

16-10-2019 /

แม้ว่ากระแสการลงทุนหรือเก็งกำไรคอนโดฯช่วงนี้เหมือนจะเงียบๆแต่ก็ไม่ซะทีเดียว ยังมีคอนโดฯบางโครงการที่ฮอตแบบเปิดขายวันเดียว Sold out ก็มีอยู่เรื่อย ซึ่งก็คือการเก็งกำไรคอนโดฯ ที่แบ่งได้หลายชนิด ทั้งการซื้อขายใบจอง การซื้อ-ขายดาวน์แบบบวกกำไร,เท่าทุน แต่การขายขาดทุนดันมีเยอะกว่า แล้วมีสิ่งใดที่ควรทำและสิ่งใดไม่ควรทำสำหรับมือใหม่กันล่ะ ลองดูฉบับย่อที่เราสรุปมาให้กันก่อน


1. วันพรีเซลล์โครงการวันแรก มีคนมาต่อคิวเยอะมากหรือมาก่อนวันเปิดก็มี เห็นแล้วตาลุกวาว เพราะมีคนสนใจเยอะเลยจองมั่ง แต่ยังไม่ได้หาข้อมูลหรือทำการบ้านมาก่อน แล้วที่ไหนได้..ที่เห็นกันเยอะๆเก็งกำไรกันทั้งนั้น เช็คจากเว็บไซต์หรือ เพจ,กลุ่มซื้อ-ขายออนไลน์ แห่กันขายเท่าทุน ขายขาดทุนกันเยอะแยะ

2. ตามกระแส Social ทั้งคนดัง หรือบล็อคเกอร์ ที่บอกว่าดีแบบนั้นแบบนี้ แล้วคล้อยตามแบบไม่หาข้อมูลเองเพิ่มเลย เคสแบบนี้บางทีคนดังอาจถูกจ้างมาโปรโมทก็ได้นะ

3. ไม่ศึกษาเรื่องเครดิต ว่าตนเองมีความสามารถกู้ได้เท่าไหร่ พอถึงเวลากู้แล้วดันกู้ไม่ผ่านเพราะเลือกโครงการแพงเกินความสามารถในการผ่อน หรือมีหนี้สินมากเกินไป ก็ทำให้โดนยึดเงินดาวน์ได้

4. ไม่ศึกษาเรื่องทำเลให้ดี หลายคนเห็นว่าใกล้รถไฟฟ้าก็คิดว่าดีแล้ว ซึ่งบางที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆเลย เช่น ร้านอาหาร หรือร้านค้า แถมอยู่ใกล้แหล่งงานที่ส่งเสียงและกลิ่นตามมา แบบนี้ใครจะอยากอยู่กันล่ะ

5. โครงการเป็นของบริษัทอะไรไม่รู้จัก ไม่มีประวัติการทำคอนโดฯมาก่อน แบบนี้ถือว่าวัดดวงเลยแหละ

ขออธิบายในส่วนนี้เพิ่ม บริษัท ผู้ประกอบการทุกวันนี้มีเป็นร้อยตั้งแต่บริษัทขนาดใหญ่ทำโครงการปีละ เป็นสิบโครงการ บริษัทขนาดกลางๆ ไปจนถึงบริษัทเล็กๆ ลงทุนทีละโครงการ ซึ่งการเลือกซื้อนั้นแม้ว่า “ชื่อเสียง” จะ ไม่ได้การันตีผลงานได้ทั้งหมด แต่การซื้อคอนโด ของ บริษัทใหญ่อาจมีข้อได้เปรียบมากกว่า เช่น เมื่อต้องการขายต่อ แบรนด์ที่ติดตลาดอาจได้ราคาดีกว่า บริษัทใหญ่ยังต้องดำเนินธุรกิจต่อไปในระยะยาวจึงจำเป็นต้องรักษาชื่อเสียง ไม่กระทำการที่เสี่ยงต่อการทำลายชื่อเสียงของตัวเอง ทั้งนี้นอกจากชื่อเสียงแล้ว ทุนจดทะเบียนบริษัทนโยบายหรือปรัชญาในการทำธุรกิจ หรือโครงการที่ผ่านๆมา อาจเป็นเงื่อนไขการพิจารณาได้ดีเช่นกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก : home.co.th

03-10-2019 /

วันนี้มีเรื่องใกล้ตัวอีกแล้วครั ความร้อนแรงของตลาดทาวน์เฮาส์ว่ากันว่าถึงระดับ 10 เต็มแม็กกันเลยทีเดียว เพราะคู่ชกเปลี่ยนจากแข่งกับบ้านเดี่ยวมาเป็นแข่งกับคอนโดมิเนียม
หลายปีดีดักมาแล้วที่ทำท่าจะแซงคอนโดฯ ย้อนกลับไปสมัยปี 2552-2553 ซึ่งตลาดคอนโดฯใกล้ถึงจุดพีคเต็มทีเพราะฮอตต่อเนื่องตีคู่กับสินค้าแนวราบคือบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์  ตอนนั้นกูรูอสังหาฯฟันธงเสียงเดียวกันว่าตลาดจะกลับมาเป็นโครงการแนวราบกลับมาฮิตเหนือแนวสูง

ปรากฏว่า คอนโดฯมีธรรมชาติเป็นตัวช่วยเพราะดันเกิดมหาอุทกภัยในปี 2554 (เริ่มจำได้แล้วชิมิ) คนกรุงเดือดร้อนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หลายคนมองหาที่หลบภัย ซื้อบ้านอยู่รอบนอกท่วมไม่เยอะหรอก แค่มิดชั้นล่าง นั่งบนระเบียงชั้นสองใช้มือวักน้ำเล่นกันมาแล้ว

อุทกภัยใหญ่ครั้งนั้นกลายเป็นสปริงบอร์ดให้คนหันมาซื้อคอนโดฯกันอีกรอบ ใช้เป็นทั้งบ้านหลัง 2 และระหว่างรอให้น้ำท่วมเมืองอีกรอบก็นำห้องชุดมาปล่อยเช่าไปพลางๆ กลายเป็นจุดขายมาถึงทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งที่ทำให้คอนโดฯบูมมี 2 สาเหตุหลัก ทางหนึ่งเพราะมีเมกะโปรเจ็กต์รถไฟฟ้าเกิดใหม่เพียบ อีกทางหนึ่งเขาบอกว่าเพราะถนนในกรุงเทพฯมีน้อยมว้าก ปริมาณพื้นผิวถนนแค่ 7% ของพื้นที่กรุงเทพฯโดยรวม

ที่อยู่อาศัยแนวสูงก็เลยไปงอกตามสถานีรถไฟฟ้าและทำเลในตัวเมือง เรื่องนี้ขุดมาพูดให้ฟังซ้ำๆ ก็อายตัวเองเหมือนกันเพราะเหมือนกับทุกคนจะรู้กันดีอยู่แล้วล่าสุด สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ เพราะโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ มีต้นทางอยู่ในเมืองปลายทางงอกตามชานเมืองทั้งสี่ทิศของเมืองกรุง ทำให้เพิ่มโอกาสการสร้างบ้านมาขายแข่งกับคอนโดฯที่น่าสนุกก็คือทำเลการแข่งขัน เดิมบอกว่า ทาวน์เฮาส์ต้องอยู่ในรู ต้องอยู่หนองหมาว้อ ดินแดนไกลโพ้นไปโน่นเลย แต่ยุคนี้เขาพัฒนาแล้ว ทาวน์เฮาส์ ขยับทำเลการแข่งขันมาหายใจรดต้นคอคอนโดฯแล้วจ้า

ข้อสังเกตมีดังนี้ ปักหมุดกันที่สถานีรถไฟฟ้าสายออกนอกเมือง เช่น สายสีม่วงก็ให้ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปก่อน เป็นดงทำเลทาวน์เฮาส์ก็ว่าได้ โดยตั้งต้นกันที่ตัวสถานีรถไฟฟ้า จากนั้น กางรัศมีออกไปตั้งแต่ 700 เมตรจนถึง 2 กิโลเมตร ดีเวลอปเปอร์ หลายเจ้าบอกใบ้มาแล้วว่าเป็นทำเลเกิดใหม่ของสินค้าทาวน์เฮาส์ ในด้านราคาเคยชวนคุยหัวข้อทาวน์เฮาส์มาแล้วว่าราคา 1.5 ล้านกำลังจะสูญพันธุ์ในอีกไม่กี่ปีนี้ เพราะต้นทุนที่ดินแพง ดังนั้น ทาวน์เฮาส์ที่แข่งกับคอนโดฯจะต้องมีราคาใกล้เคียงกัน หรือมีราคาเท่ากันจนทำให้ผู้บริโภคเกิดลังเลขึ้นมา ตัวอย่างเช่น คอนโดฯขายตารางเมตรละ 5 หมื่นบาท ไซซ์ห้อง 40 ตารางเมตร อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า (ได้แค่ใกล้ครับ อาจจะห่างออกมา 300-600 เมตร เพราะถ้าติดสถานีรถไฟฟ้าตารางเมตรละ 1 แสนอัพครับ) ก็ตกห้องละ 2 ล้านบาทแล้ว ลองขยับทำเลออกไปอีกจิ๊ดนึง มองหาทาวน์เฮาส์ก็จะมีโอกาสได้เห็นราคา 2-2.5 ล้านบาทมีให้เลือกพอสมควร

ทีนี้ก็ต้องจับคอนโดฯกับทาวน์เฮาส์มาขึ้นตาชั่งกันแล้วล่ะ จุดเด่นจุดด้อยเป็นยังไง สิ่งที่พบคือคอนโดฯได้ทำเลใกล้รถไฟฟ้า แบบว่าลงจากรถไฟฟ้าสามารถเดินเท้าเข้าโครงการได้ ไม่ไกลมาก แต่ได้ห้องเล็ก กลุ่มเป้าหมายก็ดูจะเป็นคนรุ่นใหม่ วัยเริ่มทำงาน ซื้อเป็นอสังหาฯชิ้นแรกหรือบ้านหลังแรก ชอบอิสระ การเดินทางใช้รถไฟฟ้าเป็นหลัก สิ่งที่พบสำหรับทาวน์เฮาส์คือถ้ายอมถอยร่นออกจากรัศมีสถานีรถไฟฟ้า ได้พื้นที่ใช้สอยมากกว่า ไซซ์เริ่มต้นต้องมี 80-90 ตารางเมตร ได้กรรมสิทธิ์ที่ดิน มีที่จอดรถอีกต่างหาก

พูดถึงที่จอดรถถือโอกาสเล่าต่อเลยว่าทาวน์เฮาส์ยังมีจุดขายในด้านการออกแบบ ซึ่งทางผู้ประกอบการเขาพยายามสนองนี้ดผู้บริโภคให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเสกให้ได้ เพราะฉะนั้น ก็เลยออกแบบทาวน์เฮาส์ให้มีบรรยากาศการอยู่อาศัยเหมือนบ้านเดี่ยว อย่าถามนะว่าทำไมไม่ซื้อบ้านเดี่ยวไปเลย คำตอบก็เพราะบ้านเดี่ยวแพงกว่าเป็นเท่าตัวอ่ะดิ เพราะบ้านเดี่ยวที่ดินต้องเริ่ม 50 ตารางวาขึ้นไป แต่ทาวน์เฮาส์เริ่มต้น 16 ตารางวาเท่านั้น

คำว่าอยู่ทาวน์เฮาส์เหมือนอยู่บ้านเดี่ยว เรากำลังพูดถึงมีที่จอดรถได้ 2 คัน หน้ากว้างควรจะ 5.5 เมตรขึ้นไป (เพราะจอดแล้วเปิดประตูกำลังหลวมๆ) มีฟังก์ชั่นลิฟวิ่งรูม ห้องรับประทานอาหาร ห้องครัว ห้องน้ำ เผลอๆ กั้นผนังทำเป็นมินิเธียเตอร์ให้อีกต่างหาก เดินขึ้นชั้นสองมีห้องนอนใหญ่-ห้องนอนเล็ก ห้องน้ำอีกห้อง และเผลอๆ บางยี่ห้อเขาทำฟังก์ชั่นห้องพระให้อีกต่างหาก บ้านเดี่ยวบางแห่งยังไม่มีเลยอ่ะ เริ่มเห็นภาพแล้วชิมิครับ สินค้าทาวน์เฮาส์ตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานมนุษย์ได้ระดับหนึ่ง เพราะ norm ของคนเรา (น่าจะหมายถึงบรรทัดฐาน) ทุกคนอยากได้บ้านเดี่ยว แต่ถ้าแพงมากเกินกำลังซื้อ ทาวน์เฮาส์ก็เป็นสินค้าทางสายกลางหรือสินค้าทางเลือกที่ 3 ทดแทนคอนโดฯหรือบ้านเดี่ยวได้อย่างไม่น่าเกลียดแต่อย่างใด หวังว่าจะสร้างแรงบันดาลใจในการเลือกซื้อ อสังหาฯนะครับ


ที่มา : คอลัมน์ ฟรีสไตล์เรื่องบ้าน-บ้าน: หนังสือพิมพ์มติชน

27-09-2019 /

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แนะ 5 ขั้นตอนในการกำจัดเชื้อราในบ้านหลังน้ำลด เพื่อป้องกันสุขภาพของเจ้าของบ้าน พร้อมเตือนประชาชนอย่าเสียดายเฟอร์นิเจอร์ที่มีพื้นผิวเป็นรูพรุน ไม่สามารถทำความสะอาด และทำให้แห้งได้ เพราะจะกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อรา

จากภาวะอุทกภัยส่งผลให้บ้านเรือนของประชาชนถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน เมื่อน้ำลด บ้านและเครื่องเรือนต่างๆ ที่ถูกน้ำท่วมจะมีความชื้นสูงทำให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ดี เราสามารถมองเห็นกลุ่มก้อนของเชื้อราอยู่บนพื้นผิวของวัสดุได้ด้วยตาเปล่า กลุ่มของเชื้อรามักมีรอยจุด สีต่างๆ เช่น สีดำ สีน้ำตาล สีเขียว สีแดง สีเหลือง สีขาว เป็นดวง และมีกลิ่นเหม็นอับ หรือเหม็นคล้ายกลิ่นดิน เชื้อรามักจะเจริญเติบโตซ่อนอยู่ตามที่ต่างๆ ภายในบ้าน เช่น ฝ้าเพดาน ผนังใต้พื้น ใต้พรม วอลเปเปอร์ ตู้เสื้อผ้า ฟูก หมอน เครื่องหนัง เป็นต้น เมื่อประชาชนเข้าไปทำความสะอาดบ้านเรือนของตนเองก็อาจจะสูดหายใจสปอร์ของ เชื้อราที่ปลิวอยู่ในอากาศภายในบ้านเข้าไป ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น เกิดโรคภูมิแพ้ มีไข้ จาม น้ำมูกไหล โรคปอดอักเสบจากภูมิแพ้ โรคหอบหืด ก่อให้เกิดระคายเคืองต่อตา จมูก หลอดลม ทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน และอาการแพ้เป็นผื่นลมพิษ

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีข้อแนะนำในการกำจัดเชื้อราสำหรับประชาชนที่จะเข้าไปทำความสะอาดบ้านเรือนหลังน้ำลด 5 ขั้นตอน ดังนี้

1. การป้องกันตนเอง ควรสวมรองเท้าบูตยาง สวมถุงมือยาง เพื่อป้องกันเชื้อราสัมผัสผิวหนังโดยตรง ใส่แว่นตาป้องกันเชื้อกระเด็นเข้าตา และใส่ผ้าปิดปากปิดจมูกป้องกันการหายใจเอาสปอร์เชื้อราและไอระเหยสารเคมี เข้าสู่ร่างกาย

2. การระบายอากาศ ในระหว่างทำความสะอาดควรเปิดประตู หน้าต่าง ม่าน เพื่อให้อากาศถ่ายเทและให้มีแสงแดดส่องถึงที่สำคัญไม่ควรเปิดแอร์ และพัดลมในระหว่างการทำความสะอาดเพราะจะทำให้สปอร์ของเชื้อราฟุ้งกระจายได้

3. การทำความสะอาด ให้ทำความสะอาดเฟอร์นิเจอร์ให้เร็วที่สุดภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังน้ำลด โดยให้ล้างด้วยน้ำและสบู่เพื่อขจัดสิ่งสกปรกออกก่อน หลังจากนั้น ให้ล้างด้วยน้ำยาโซเดียมไฮโปคลอไรต์ หรือผงปูนคลอรีน 0.5 เปอร์เซ็นต์ หรือใช้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปน้ำยาซักผ้าขาวที่มีส่วนผสมของโซเดียมไฮโปคลอไรต์ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ที่ซุปเปอร์มาเก็ตทั่วไป นำมาผสมกับน้ำในอัตราส่วนน้ำยาซักผ้าขาว 3-5 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 1 แกลลอน (ประมาณ 3.8 ลิตร) สำหรับเชื้อราที่ขึ้นเป็นจุดๆ บนวอลเปเปอร์และผนัง ให้เช็ดด้วยแอลกอฮอล์ล้างแผล 70 เปอร์เซ็นต์ ผสมกับกรดซาลิไซลิกในอัตราส่วน 5 ต่อ 1 แต่หากพบว่ามีเชื้อราเป็นจำนวนมาก ควรเปลี่ยนวอลเปเปอร์และผนังใหม่ ส่วนเชื้อราบนเครื่องหนังให้ใช้น้ำส้มสายชูเช็ดถูหลายๆ ครั้ง เมื่อเครื่องหนังแห้งแล้วให้เช็ดด้วยน้ำยาทำความสะอาดอีกครั้งและใช้ครีมเช็ดรองเท้าเช็ดถูปิดท้าย หลังจากการทำความสะอาดเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เสร็จแล้ว ให้ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อราเช็ดหรือพ่นบริเวณที่มีเชื้อราเจริญต่อเนื่องทุกวันจน เชื้อราหายไป จากนั้นเว้นระยะเช็ดหรือพ่นเป็นสัปดาห์ละครั้งเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ เชื้อราเจริญเติบโตอีก

สำหรับเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่สามารถกำจัดเชื้อราและทำให้แห้งได้ เช่น พรม เบาะผ้า ที่นอน ฟูก วอลเปเปอร์ ฯลฯ ไม่ควรเก็บไว้ใช้ต่อควรทิ้งโดยใส่ในถุงพลาสติกและมัดอย่างดีเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อราสู่อากาศ

4. การทำให้แห้ง หลังทำความสะอาดและฆ่าเชื้อราในบ้านเสร็จแล้วให้เปิดพัดลมเป่าในบ้านและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เปิดหน้าต่าง ประตู เพื่อให้อากาศถ่ายเทเอาสปอร์ของเชื้อราออกจากตัวบ้านจนมั่นใจว่าบ้านและ อุปกรณ์ต่างๆ แห้งสนิท

5. ตรวจสอบเชื้อรา หลังจากทำความสะอาดไปแล้ว 2-3 วัน ให้สังเกตว่ามีเชื้อราเจริญเติบโตอีกหรือไม่ ถ้ายังพบว่ามีเชื้อราให้ทำความสะอาดซ้ำ หากมีเชื้อราเกิดขึ้นอีกให้ประชาชนตรวจสอบระบบระบายอากาศ ระบบแอร์ทั้งหมด และระดับความชื้นภายในบ้านด้วย


ที่มา : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์